จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา  มีการพิจารณาผลการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เกี่ยวกับการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยให้ลงโทษแพทย์ 3 ราย แยกเป็นให้ว่ากล่าวตักเตือน 1 ราย ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบอนญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 ราย  กรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง เมื่อวันที่ 8 พ.ค.68 ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค.68 สำนักข่าวอิศรา  (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นทางการจากแหล่งข่าวแพทยสภา ว่า แพทย์ 3 ราย ที่คณะกรรมการแพทยสภา มีมติสั่งให้ลงโทษดังกล่าว ได้แก่ 1.แพทย์หญิง รวมทิพย์ สุภานันท์ ในฐานะแพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่งโดนลงโทษตักเตือนเนื่องจากเขียนใบส่งตัวล่วงหน้า 2.พลตำรวจโท โสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันในเลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 3.พลตำรวจโท ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ คนปัจจุบัน ในฐานะผู้ออกใบความเห็นแพทย์  

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ระบุก่อนหน้านี้ ว่า สำหรับแพทย์ 1 ท่าน ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน เพราะเป็นความผิดที่ไม่ได้รุนแรง เนื่องจากเกี่ยวกับเรื่องการออกใบส่งตัว ส่วนอีก 2 ท่านเป็นเรื่องการให้ข้อมูลเอกสารทางการแพทย์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถึงมีมติให้พักใบประกอบฯ 

” ขณะนี้ข้อมูลที่เราได้รับไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า มีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ระบุ

ส่วนประเด็นที่สรุปว่าเป็นการป่วยทิพย์หรือไม่นั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า บอกได้แค่ว่าด้วยข้อมูลหลักฐานทั้งหลายที่แพทยสภาได้รับมานั้น ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า มีภาวะวิกฤตเกิดขึ้นตามที่มีการแถลงข่าว อยู่ที่การตีความ

สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี มติคณะกรรมการแพทยสภา ดังกล่าวจะต้องนำเข้าที่ประชุมสภานายกพิเศษ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นนายกสภาพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามมติคณะกรรมการแพทยสภา หรือเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน หากมีความเห็นแย้งจะต้องส่งกลับคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหากที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาเห็นว่า คำแย้งฟังไม่ขึ้นก็สามารถลงมติยืนยันตามมติเดิมได้ โดยใช้เสียง 2 ใน 3 

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ระบุให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา ปัจจุบันคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ผ่านมา สภานายกพิเศษ มักมีความเห็นตามมติคณะกรรมการแพทยสภา มาโดยตลอด 

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีการไต่สวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 12 ราย กรณีเอื้อประโยชน์ นายทักษิณ ชินวัตร บิดา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่ ห้องพิเศษชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. หลังจากนี้คงจะเรียกพยานหลักฐานจากแพทยสภา มาประกอบสำนวนไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช.ด้วย