ออกหมายจับ “เปรมชัย กรรณสูต” กับพวกรวม 17 ราย เอี่ยวคดี ตึกสตง.ถล่ม
จากกรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น.ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวโดยมีจุด ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยและในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลทำให้อาคาร ก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีความสูง 30 ชั้น ทรุดตัวถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และ เสียชีวิตจำนวนมากนั้น
ล่าสุด วันที่ 15 พ.ค.68 พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. มีคำสั่งให้แต่งตั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยมี พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทำการสอบสวนในคดีดังกล่าว
จากการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคล พบว่าแบบแปลนการก่อสร้างไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง และมาตรฐาน กลุ่มกำแพงปล่องลิฟต์ของอาคาร ไม่ได้อยู่ตรงกลางอาคาร แต่ชิดขอบด้านหลัง ทำให้ศูนย์กลางของการบิดตัวของอาคารเยื้องไปจากศูนย์กลางอาคาร เมื่ออาคารแกว่งตัวจากแผ่นดินไหว ทำให้กำแพงปล่องลิฟต์และเสาที่ฐานถล่มเกือบพร้อมกัน ทำให้อาคารทั้งหลังตกลงมาในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ มีการส่งผลตรวจปูนซีเมนต์ ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่า มีมาตรฐาน ตรงตามค่า KSC ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐาน ที่ใช้วัดความแข็งแรงของคอนกรีต ผลการตรวจปรากฏว่าความแข็งแรงของคอนกรีต ไม่ได้มาตรฐานตามค่า KSC และ การตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บได้จากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ปรากฏว่ามีบางส่วนไม่ เป็นไปตามแบบเช่นกัน และ จากการตรวจลายมือชื่อของ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ผู้เสียหายที่ถูกปลอมลายมือชื่อลงไป ในฐานะวุฒิวิศวกร จากกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่า ตัวอย่างลายมือชื่อที่ส่งเปรียบเทียบ มีคุณสมบัติการเขียน รูปลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันกับตัวอย่างลายมือชื่อของ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข จึงลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของคนเดียวกัน
จากหลักฐานข้างต้นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้แบ่งกลุ่มผู้กระทำความผิดออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำมีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้กระทำความผิดดังนี้
กลุ่มที่ 1 บริษัทผู้ออกแบบ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประทศไทย) ทำสัญญาระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล 1 ราย และมีกลุ่มวิศวกรผู้ลงนามในแบบแปลนซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้าง จำนวน 5 ราย รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย
กลุ่มที่ 2 บริษัทผู้รับจ้างควบคุมการก่อสร้าง กิจการร่วมการค้า PKW จำนวน 1 รายในฐานะส่วนตัว เนื่องจากเป็นผู้แทนลงนามในสัญญา ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ตกลงยินยอมรับผิดร่วมกัน และ แทนกันต่อผู้ว่าจ้างในทุกกรณี โดย 3 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด 2.บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด 3.บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 5 ราย และกลุ่มที่ 3 บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกินการร่วมค้า ITD-CREC รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย
อย่างไรก็ตาม ในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ค้นพบแล้ว จำนวน 89 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย สูญหาย 11 ราย จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด 17 ราย ในฐานะนิติบุคคล และ ส่วนตัว ในฐาน “เป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือ ทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้น ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 , 238
มีรายงานว่า ในจำนวนผู้ถูกออกหมายจับ 17 ราย มีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย