ถูกจัดให้เป็นสงครามความขัดแย้งที่ส่งแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้แก่ “ตลาดพลังงาน” โดยแท้ เพราะส่งผลกระทบอย่างฉับพลันทันใด ทันทีที่เสียงกัมปนาทจากขีปนาวุธและโดรนโจมตีทางอากาศเข้าใส่กัน ระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกองทัพอิหร่าน ซึ่งเริ่มปะทุศึกขึ้นตั้งแต่วันศุกร์สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึง ณ ชั่วโมงนี้ผ่านพ้นมา 5 วัน แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ทีท่าว่าจะยุติการโจมตีทางอากาศใส่กันแต่ประการใด

โดยพลันที่มียุทธเวหา หรือโจมตีทางอากาศระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน เริ่มขึ้นเป็นวันแรก เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้ว ก็ส่งผลให้ราคาการซื้อขายน้ำมันดิบในตลาดพลังงานต่างๆ ทะยานพุ่งสูงขึ้นทันที แถมมิหนำซ้ำยังเป็นการพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อีกต่างหากด้วย

นักวิเคราะห์ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทะยานพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบวันอย่างเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นห้วงเวลาที่กองทัพรัสเซีย เริ่มเปิดศึกทำสงครามรุกรานยูเครน นั่นเอง

กล่าวได้ว่า “สงคราม” มีผลต่อทางจิตวิทยาของเหล่าบรรดานักลงทุนในตลาดพลังงานโลกเป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดเวสต์เทกซัส หรือดับเบิลยูทีไอ ของทางฟากสหรัฐฯ ที่สถานการณ์การซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายนอันเป็นวันแรกของการโจมตี ราคาก็พุ่งไปทันทีบาร์เรลละ 3.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายนที่ยังอยู่ที่บาร์เรลละ 68.04 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 71.29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับ สัญญาการซื้อขายน้ำมันดิบรอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม

หลังจากราคาการซื้อขายก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุด ตามการโจมตีระหว่างกันที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

โดยในการซื้อขายของวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการโจมตีดำเนินต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ราคาน้ำมันดิบรอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกไปอยู่ที่ 72.04 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เช่นเดียวกับสถานการณ์การซื้อขายของตลาดเบรนท์ ทะเลเหนือ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นตลาดที่ใช้อ้างอิงในการซื้อขายของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ราคาก็พุ่งทะยานยิ่งกว่าตลาดของทางฝั่งสหรัฐฯ โดยขึ้นไปทดสอบที่ 75.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในวันแรกที่อิสราเอลกับอิหร่านสัประยุทธ์ ดวลกันด้วยขีปนาวุธและโดรนโจมตีทางอากาศ เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ทางด้านฉากสงครามการโจมตีทางอากาศเข้าใส่กันระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น ก็ยังปรากฏว่า ทั้งอิสราเอลและอิหร่าน ต่างโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานระหว่างกันและกัน แบบดวลเดือดแลกหมัดกันแบบโรงงานน้ำมันต่อโรงงานน้ำมันกันเลยก็ว่าได้

โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงเตหะราน ถูกขีปนาวุธจากอิสราเอลโจมตี (Photo : AFP)

เริ่มจากทางฝั่งอิหร่าน ซึ่งตกเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศจากทางอิสราเอลก่อน หรือถ้าพูดอย่างภาษาบ้านๆ คือ “ถูกเปิดก่อน” ปรากฏว่า กองทัพอิสราเอลได้ยิงขีปนาวุธโจมตีโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งของอิหร่าน รวมถึง “ชาห์ร เรย์” อันเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ตั้งอยู่ในเมืองเรย์ เมืองหลวงของเทศมณฑลเรย์ จ.เตหะราน

นอกจากโรงกลั่นน้ำมันแล้ว ทางกองทัพอิสราเอล ก็ได้โจมตีทางอากาศเข้าใส่คลังเก็บน้ำมันของอิหร่าน เช่น คลังน้ำมันชาห์ราน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานของอิหร่าน ออกมายอมรับว่า ถังในคลังเก็บน้ำชาห์ราน ไม่น้อย กว่า 11 ถัง ถูกโจมตีจนได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ทางอิหร่าน ก็ไม่ยอมถูกโจมตีแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศด้วยขีปนาวุธและโดรนทางทหาร เข้าใส่เป้าหมายเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอิสราเอลาด้วยเช่นกัน

โรงกลั่นน้ำมันเมืองไฮฟาของอิสราเอล ถูกอิหร่านโจมตีทางอากาศตอบโต้ จนเกิดเปลวไฟและควันไฟพวยพุ่ง (Photo : AFP)

อาทิเช่น โรงกลั่นน้ำมันในเมืองไฮฟา เมืองใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือของอิสราเอล และเป็นเมืองท่าที่สำคัญของอิสราเอลอีกด้วย

โดยขีปนาวุธของอิหร่าน สร้างความเสียหายให้แก่โรงกลั่นน้ำมันเมืองไฮฟามิใช่น้อย ถึงขนาดต้องปิดดำเนินงานไปหลายส่วนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ทางการอิหร่าน โดยทั้งกองทัพและรัฐสภาในกรุงเตหะราน ได้ออกมาขู่ว่า จะปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” จากผลพวงของการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพอิสราเอล ซึ่งทางรัฐบาลอิหร่าน กำลังพิจารณามาตรการนี้

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เชียทางเหนือและอ่าวโอมานทางใต้ (Photo : AFP)

ก็ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลต่อตลาดพลังงานโลกให้มากขึ้นไปอีก เนื่องจากช่องแคบแห่งนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่าวเปอร์เชียกับอ่าวโอมาน ที่จะไปออกทะเลอาหรับ และมหาสมุทรอินเดียต่อไปนั้น ถือเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งสินค้าพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและก๊าซ จากแหล่งผลิตในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคตะวันออกกลาง สู่ตลาดโลกที่สำคัญแห่งหนึ่ง

ตามตัวเลขก็ระบุกันว่า ช่องแคบฮอร์มุซแห่งนี้ รองรับการขนส่งลำเลียงน้ำมันถึงวันละ 20 ล้านบาร์เรล ถ้าถูกปิดเมื่อไหร่ ก็จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันโดยทันที ที่บรรดาผู้ประกอบการต้องใช้เส้นทางอื่นๆ ที่อ้อมกว่า และมีราคาค่าใช้จ่ายในการลำเลียงขนส่งเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในอิหร่าน หนึ่งในชาติสมาชิกสำคัญของกลุ่มโอเปก (Photo : AFP)

ถึงขนาดมีการวิเคระห์กันว่า หากช่องแคบฮอร์มุซถูกอิหร่านปิดไปเมื่อไหร่ โลกก็อาจจะได้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มไม่น้อยกว่า 2 – 3 เท่า เลยทีเดียว เพราะการขนส่งลำเลียงที่ต้องใช้เส้นทางอ้อมมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันทะยานพุ่งไปอย่างสุดสะพรึง โดยลำพังสถานการณ์สู้รบโจมตีทางอากาศตอบโต้กันไปมานี้ ก็ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงอยู่แล้ว โดยเหล่านักวิเคราะห์จของบางสำนัก ก็ระบุว่า โลกอาจจะได้เห็นราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุเกินกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในการซื้อขายตลาดพลังงานกันอีกครั้งก็เป็นได้จากผลกระทบของการสู้รบดังกล่าว โดยอิหร่าน ซึ่งเป็นพื้นที่กระสุนตกของการสู้รบครั้งล่าสุดนี้ ก็ถือเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของกลุ่มโอเปกระดับท็อปเทน ที่แต่ละวันป้อนน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกหลายล้านบาร์เรลด้วยกัน