เมื่อวันที่ 13 พ.ค.68  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไทย กับ นาย Boris Pistorius รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้หารือทวิภาคี  ในโอกาสมาการประชุม UN Peacekeeping Ministerial การพัฒนาความร่วมมือทางทหาร และการขยายความร่วมมือในกรอบอาเซียน รวมถึงด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ    

พันเอกหญิงดังใจ สุวรรณกิตติ รองโฆษกกลาโหม เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม  ได้ติดตามสิ่งที่เคยสอบถามทางกระทรวงกลาโหมเยอรมนีว่า สามารถจะขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำ MTU 396 ที่ทางประเทศไทยได้จัดหา ใส่เรือดำน้ำต่แจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

โดย รมว.กห. สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตอบว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องมาจากการที่สหภาพยุโรป (EU)  ได้มีข้อห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้เพราะเยอรมันเป็นทั้งสมาชิกของ EU และ NATO  ซึ่งมีท่าทีต่อจีนชัดเจน  จึงไม่สามารถขาย เครื่องยนต์เรือดำน้ำของเยอรมัน ให้ไทยได้  แม้ว่าไทยและเยอรมันจะมีความสัมพันธ์อันดีอันยาวนานกันก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นาย ภูมิธรรม ได้กล่าวแสดงความเข้าใจในเหตุผลของเยอรมัน แต่เราก็ ถามเพื่ออยากให้ได้ความมั่นใจ เพราะเราก็อยากที่จะแก้ปัญหาของเรา  และเราก็อยากได้เทคโนโลยีของเยอรมัน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและจะทำให้เราได้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด แม้เยอรมันจะไม่ขายเครื่องยนต์ให้ไทยแต่ก็ไม่ได้กระทบกับเรื่องของความสัมพันธ์เราก็ยังคงมีความร่วมมือกันต่อไป 

ทั้งนีั กระทรวงกลาโหมของไทยกำลังพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์ เพื่อพึ่งพาตนเองและเป็นหลักประกันด้านความมั่นคง รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะใน 4 ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะเพื่อความมั่นคง อุตสาหกรรมต่อเรือ อากาศยานไร้คนขับ และอาวุธและกระสุน  ไทยจึงขอให้เยอรมนีพิจารณาความเป็นไปได้ในการที่ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเชิญชวนเยอรมนีเข้าร่วมงาน Defense & Security 2025    

นายภูมิธรรม ได้กล่าวชื่นชมเยอรมนีที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม United Nations Peacekeeping Ministerial Meeting ครั้งที่ 6 (UNPKM 2025) และแสดงความยินดีต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของเยอรมนี ภายใต้การนำของ นาย Friedrich Merz พร้อมทั้งยินดีที่ รมว.กห.เยอรมนียังคงดำรงตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพทางนโยบายด้านกลาโหม    
 
ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเยอรมนี ที่มีมายาวนานถึง 163 ปี และมีการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในสหภาพยุโรป  

 
 
ในการประชุม UNPKM 2025 ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ และมุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไทยให้มีความพร้อมและมาตรฐานสากล  ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมภายใต้โครงการความร่วมมือไตรภาคี (Triangular Partnership Programme: TPP) ในห้วงปี 70-71 และหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือกับเยอรมนีในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพกำลังพลในภารกิจรักษาสันติภาพ    
 
ความร่วมมือทางทหาร ระหว่างไทยและเยอรมนีมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือน การหารือแลกเปลี่ยนเฉพาะด้าน การสนับสนุนที่นั่งศึกษา และการจัดหายุทโธปกรณ์  ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสำเร็จในการประชุมโครงการความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่าง กห. กับ กห.เยอรมนี (Bilateral Annual Cooperation Programme Talks) 2568 และการประชุมหารือด้านความมั่นคงเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ กห. – กห.เยอรมนี (Politico – Military Staff Talks) ครั้งที่ 7    
 
ไทยขอบคุณเยอรมนี ที่สนับสนุนกำลังพลของไทยเข้ารับการศึกษาวิชาทหารในเยอรมนี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและความเป็นมืออาชีพทางทหารของกำลังพลไทย    
 
นอกจากนี้ ไทยยังประสงค์ที่จะแสวงหาความร่วมมือกับเยอรมนีในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ โดยเฉพาะด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย    
 
เยอรมนีได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนด้วยดีเสมอมา และไทยยินดีที่เยอรมนีได้รับความเห็นชอบจาก รมว.กห.อาเซียน ให้เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และด้านความมั่นคงไซเบอร์ในกรอบ ADMM-Plus  ไทยยังมีความประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนความร่วมมือด้านการแพทย์ทหารระหว่างศูนย์แพทย์ทหารนานาชาติของเยอรมนี กับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนของไทย    
 
ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความขอบคุณสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป